Thursday, February 8, 2007

สัตว์น้ำคุ้มครอง

  1. ชื่อพื้นเมือง ปลาหมูอารีย์
    ชื่อสามัญ Hog fish, Sping loach
    ชื่อวิทยาศาสตร์ Botia sidthimunki klausewitz

    ปลาหมูอารีย์ Botia sidthimunki Klausewitz ได้ถูกรายงานและตั้งชื่อโดย Dr. Von.W. klausewitz ในปี พ.ศ. 2502 โดยตั้งชื่อชนิด (species) เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายอารีย์ สิทธิมังค์ ซึ่งเป็นผู้ค้นพบตัวอย่างปลาชนิดนี้ พบว่าปลาหมูที่มีลักษณะรูปร่างและสีที่แตกต่างจากปลาหมูชนิดอื่นๆ (ในเมืองไทยพบ 7-8 ชนิด : เสน่ห์ ; (2521) โดยปลาหมูอารีย์จะมีสีสรรสดใส ลักษณะแปลกตา มีลายเส้นดำเหลืองตัดกันมักแสดงตัวได้ดีกว่าปลาหมูชนิดอื่น เป็นที่นิยมของนักเลี้ยงปลาตู้ จึงถูกจับเพื่อจำหน่ายส่งออกไปต่างประเทศ ปีละมากๆ ในปัจจุบัน ตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์จึงถูกจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อ “สัตว์น้ำคุ้มครอง”
    ในปัจจุบันนี้สัณนิฐานว่าในประเทศไทยมีปลาชนิดนี้หลงเหลืออยู่แต่ในเฉพาะบริเวณแม่น้ำว้า อ.แม่จริม จ.น่าน เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในแม่น้ำว้าเองก็พบว่ายังมีการลักลอบจับปลาหมูอารีย์เพื่อจำหน่ายส่งเป็นปลาสวยงามอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพราะว่าราคาจำหน่ายค่อนข้างสูง (10-30 บาท/ตัว) และยากต่อการปราบปรามจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขาสูง กรมประมง ซึ่งได้รับมอบหมายให้อนุรักษ์และฟื้นฟูพันธุ์สัตว์น้ำจืดที่หายากของไทยตามโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ในความสำคัญที่จะศึกษาและจะอนุรักษ์พันธุ์ปลาหมูอารีย์ไว้ตลอดจนมีนโยบายที่จะเพาะขยายพันธุ์ปลาหมูอารีย์ เพื่อเลี้ยงให้เป็นปลาสวยงามทางเศรษฐกิจ จึงได้มอบหมายให้สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดน่าน เป็นผู้ดำเนินการดังกล่าว
    ชีววิทยาบางประการของปลาหมูอารีย์ เกียรติคุณ (2540)

    ปลาหมูอารีย์ มีรูปร่างยาวและแบนข้าง มีสีสันสดใสมาก โดยมีสีเหลืองมะปรางสุกบริเวณส่วนหัว แนวกลางของส่วนหลังและลำตัว ส่วนท้องมีสีขาวออกงาช้าง บริเวณหัวมีสีน้ำตาลดำ 2 แถบขนานกันไปตามบริเวณแถบสีเหลืองบริเวณหลังแถบนี้ไปสิ้นสุดที่บริเวณคอดหาง และยังมีแถบสีน้ำตาลดำที่มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ส่วนปากผ่านแนวลูกตาตามเส้นข้างลำตัวไปจนถึงจุดเริ่มต้นของครีบหาง
    ในธรรมชาติอาศัยอยู่บริเวณพื้นท้องน้ำ หาดน้ำตื้น ซึ่งมีกระแสน้ำไหลเชี่ยว น้ำมีคุณภาพดี มีออกซิเจนที่ละลายในน้ำสูงประมาณ 8.1 – 9.8 มิลลิกรัมต่อลิตร พื้นท้องน้ำมีพืชน้ำจำพวกตะไคร่น้ำ และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารธรรมชาติ ปลาหมูอารีย์จัดเป็นปลาประเภทกินเนื้อ โดยกินหนอน ไรน้ำ หนอนหลอดน้ำ แมลงต่างๆ

    การเพาะพันธุ์และการอนุบาลปลาหมูอารีย์

    สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดน่าน โดยนายวิวัฒน์ ปรารมภ์ หัวหน้าสถานี ฯ ประสบผลสำเร็จในการเพาะพันธุ์ ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2542 โดยการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ร่วมกับยาเริมฤทธิ์ในอัตรา 15 ไมโครกรัม + 10 มิลลิกรัม ให้แก่แม่ปลา 3 ตัว สามารถกระตุ้นให้แม่ปลาวางไข่ได้ในระยะเวลา 10 – 12 ชั่วโมง ต่อมาในปี 2544 ได้ทดลองใช้พ่อแม่พันธุ์ปลาที่เลี้ยงไว้จากการเพาะพันธุ์ผสมเทียม เมื่อปี 2542 มาทำการทดลองเพาะพันธุ์โดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ buserelin acetate ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ domperidone 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในอัตราความเข้มข้นที่ต่างกันคือ 10 , 20 และ 30 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ผลการทดลองพบว่าสามารถกระตุ้นให้แม่ปลาทุกชุดการทดลองตกไข่ได้
    ไข่ปลาหมูอารีย์เป็นแบบครึ่งจมครึ่งลอย มีลักษณะกลม สีเหลือง มีขนาดเล็กเพียง 0.37- 0.46 มิลลิเมตร ฟักเป็นตัวประมาณ 12- 13 ชั่วโมง ลูกปลาอายุ 3 วันเริ่มกินอาหารโดยให้โรติเฟอร์ให้เป็นอาหารลูกปลาในระยะเริ่มแรก หลังจากนั้น 1 อาทิตย์ให้ไรแดงเป็นอาหาร อนุบาลในตู้กระจกประมาณ 3 อาทิตย์ ก็นำปลาหมูอารย์ไปเลี้ยงต่อในบ่อซีเมนต์โดยให้ไรแดงเป็นอาหารตลอดการเลี้ยง

No comments: